สังคมทำเงิน Make Money Online



Join the forum, it's quick and easy

สังคมทำเงิน Make Money Online

สังคมทำเงิน Make Money Online

Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.
สังคมทำเงิน Make Money Online

สังคมแห่งการแบ่งปัน แบ่งปันรายได้ แบ่งปันความรู้ แบ่งปันสาระ

clock

ราคาทองคำวันนี้

Statistics

Post ทั้งหมด 1432 หัวข้อ in 641 subjects

สมาชิกทั้งหมด 398 คน

สมาชิกล่าสุดคือ dekinw

เข้าสู่ระบบ(Log in)

ลืม(forget) password

ราคาน้ำมัน

ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน

music online

Ad

คนออนไลน์

website counter

map


    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี

    avatar
    Admin
    Admin


    จำนวนข้อความ : 698
    Join date : 06/06/2010

    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี Empty ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี

    ตั้งหัวข้อ  Admin Sat Aug 24, 2013 10:16 am

    บุญมา ภูผาหมอก  เรื่อง / รูป

    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี 1370252579
    ไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อย ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะว่ากันว่าเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง กินเข้าไปในร่างกายแล้ว ช่วยป้องกันและรักษาโรคบางโรค ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง

    ไรซ์เบอร์รี่เขาดีจริง แต่กรรมวิธีการผลิตต้องดีด้วย งานปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ที่สิงห์บุรี เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เกษตรกรรายเดียวทำได้ปริมาณค่อนข้างมาก คือ 300 ไร่เศษ ขั้นตอนการผลิตก็อินทรีย์ล้วนๆ ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป เกษตรกรที่ว่า ชื่อ อาจารย์ชัชวาลย์ เวียร์ร่า อยู่บ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี



    สาเหตุที่ได้ไปดูแปลงปลูกข้าวของอาจารย์ชัชวาลย์ เริ่มต้นจาก พี่หลี คุณณิชกมล จิรภาไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
    ฝ่ายโฆษณา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รู้จักกับ พี่ตุ๋ย ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณา พี่ตุ๋ยไปทำงานการเกษตรอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ พี่ตุ๋ยเป็นลูกศิษย์อาจารย์ชัชวาลย์ ไปเรียนรู้การปลูกข้าวที่สิงห์บุรี...ช่วงนี้ไปดูงานผลิตของอาจารย์ก่อน ต่อไปจะไปเยี่ยมชมแปลงของลูกศิษย์ ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเทคโนโลยีชาวบ้าน

    ปลูก ไรซ์เบอร์รี่ มา 9 ปี

    เดินทางออกจากกรุงเทพฯ 9 โมงเศษๆ ไปถึงบางน้ำเชี่ยวเกือบ 11 โมง เนื่องจากเจ้าของบ้านติดพูดคุยกับผู้มาเยือนอีกกลุ่มหนึ่ง จึงต้องรอ ขณะเดียวกันอาหารเที่ยงก็พร้อมแล้ว

    เลยต้องจำใจกินข้าวก่อนทำงาน อาหารเที่ยงมีข้าวไรซ์เบอร์รี่หุงผสมกับข้าวสินเหล็ก กับข้าวประกอบไปด้วย ปลาช่อนนาทอด แกงส้ม ปลาทูทอด น้ำพริก และชะอมทอด ของหวานมี กะละแม อิ่มอร่อยมาก จนง่วงนอน แต่ก็ต้องฝืนพูดคุย ให้คุ้มกับเวลาและค่าข้าว

    อาจารย์ชัชวาลย์เล่าว่า มามีครอบครัวที่บางน้ำเชี่ยวเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุ 61 ปี ปัจจุบันอายุ 70 ปี อาจารย์บอกว่า มีประสบการณ์งานเกษตรมาบ้าง เพราะบรรพบุรุษมีที่นาอยู่คลองสิบสาม รังสิต

    “คุณปู่เป็นอังกฤษ คุณย่าเป็นเยอรมัน มีเชื้อสายโปรตุเกสเข้ามา มีญาติอยู่สิงคโปร์ จริงๆ แล้วผมอยู่กรุงเทพฯ ติดตามพ่อมีอาชีพทำไม้ อยู่จังหวัดไหนก็ไปเรียน ลำปาง พิษณุโลก สุดท้ายเรียนวัดสุทธิ ที่กรุงเทพฯ ที่บ้านมีนา คลองสิบสาม รังสิต ปิดเทอมไปช่วยเขาทำนา จบมาทางเครื่องยนต์ มารู้ความจริงเกษตรกรมีเครื่องจักร แต่ยากจนไม่มีเงินซ่อม ทำข้าวให้คนกิน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ แสดงว่ามีความล้มเหลวทางการเกษตรเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เมื่อก่อนโรงสีคลองสิบสอง ไปซื้อข้าว เกวียนละ 380-450 บาท เป็นข้าวนาปี เราไม่รู้จักข้าวนาปรัง ชาวนาเก็บข้าวไว้ขายเดือน 12...เรามาคิด ชาวนาทำไมจน แต่โรงสี ร้านเคมีรวย โรงสี 1,477 โรง ชาวนาอยากเป็นตัวของตัวเองแต่ไม่มีใครส่งเสริม...ผมทำนา 9 ปี ไม่มีใครมาส่งเสริม...มาที่นี่เมื่อ 9 ปี ราคาล้มลุกคลุกคลาน การทำนา ใช้เวลาปีกับ 15 วัน ทำได้ 3 ครั้ง ผมมาที่นี่ผมทำไรซ์เบอร์รี่เลย ที่เริ่มก็มีแนวคิดจะขายให้ใคร ข้าวนี้เป็นข้าวโภชนาการรักษาคนได้ เป็นจุดเด่น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่คนเป็นกันมาก เราต้องทำข้าวอินทรีย์ ทำสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด เริ่มทำชาวบ้านไม่รู้จัก เขาถามว่า ข้าวจมน้ำหรือไรถึงดำหมด จะไปขายใคร ปีแรกทำ 7 ไร่ เขากลัวกระเด็นไปปนเปื้อนนาเขา” อาจารย์เล่า

    เมล็ดพันธุ์ จุดเริ่มต้นที่ดี

    เมื่อเริ่มต้นปลูกข้าว อาจารย์ชัชวาลย์ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต่อมาเพิ่มข้าวสินเหล็กอีกสายพันธุ์หนึ่ง

    อาจารย์แนะนำว่า เมื่อเริ่มต้นการทำนา ต้องดูเรื่องสายพันธุ์ข้าว หากเริ่มต้นด้วยสายพันธุ์ที่ดี จะช่วยให้การทำนาประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก



    พันธุ์ข้าวที่ดี ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พันธุ์ข้าวมีความคงทนแข็งแรง อาจารย์ได้พันธุ์ข้าวมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำนวน 1 ถัง จากนั้นมาคัดเลือก ได้เมล็ดข้าวตามลักษณะที่ต้องการ จำนวน 4 กิโลกรัม แต่ก็เพียงพอ สำหรับปลูกในที่นา 7 ไร่

    “พันธุ์ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีอะไรปลอมปนมาหรือเปล่า สิ่งที่ปนมาคือข้าวพันธุ์ใดบ้าง ความงอกเท่าไหร่ เรื่องพันธุกรรมข้าวสำคัญ ผมทำไรซ์เบอร์รี่และสินเหล็กเป็นหลัก จำนวน 318 ไร่ ผมทำผลผลิตได้ 1,300-1,400 กิโลกรัม ต่อไร่ พันธุกรรมของพืชอย่าให้เครียดจะเกิดความอ่อนแอ ผมศึกษาคัดพันธุ์ มีความทนทาน ขนาดแล้งน้ำเป็นเดือนยังไม่เหี่ยวเฉา เก็บที่แปลงทำพันธุ์เอง” อาจารย์ให้แง่คิด

    แนวทางการทำนานั้น ที่พบเห็นอยู่ คือนาหว่านและนาดำ

    การทำนาหว่าน...บางท้องที่เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าว 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ขนาดนี้ นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว เวลาต้นข้าวเจริญเติบโต ต้องใช้ปัจจัยการผลิตมาก ต้นข้าวอยู่รวมกันหนาแน่น เกิดความอ่อนแอต่อโรคและแมลง ผลผลิตจึงได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจารย์เคยมีประสบการณ์ในการหว่านข้าว ใช้ 3 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งยังมากอยู่ จริงๆ แล้วน่าจะ 2.5 กิโลกรัม ต่อไร่

    สำหรับนาดำ...อาจารย์ชัชวาลย์ ดำโดยใช้ข้าวต้นเดียว ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ปรากฏว่าข้าวแข็งแรง แตกกอดี เมื่อปลูกลงไปจำนวน 1 ต้น การแตกกออาจจะมีมากกว่า 30 ต้น ต่อกอ ขณะเดียวกัน หากต้องการปลูกข้าวไว้ทำพันธุ์ ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 50 เซนติเมตร จะทำให้ข้าวแข็งแรง มีผลต่อพันธุกรรม ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ทำพันธุ์ไว้ใช้เอง ส่วนหนึ่งเผยแพร่ให้คนที่สนใจ

    “ผมดำห่าง 40 เซนติเมตร ดำต้นเดียว ศึกษาจากข้าว 1 ต้น สามารถแตกกอได้ตรงแสงแดดพอ รวมทั้งมีลมพัดผ่าน บางครั้งพบว่าแตกกอได้ 60 ต้น จากข้าวต้นเดียว จึงปรับปรุงที่นาให้แสงแดดส่องได้พอ มาสรุปตอนหลัง ระยะปลูก 30 เซนติเมตร ปลูกข้าวต้นเดียว ให้ข้าวได้แสงแดดเท่ากันจะแตกกอดี ระยะปลูกจึงสำคัญ ปลูกระบบด้วยข้าวต้นเดียว ได้ผลผลิตมากกว่านาหว่าน ในพื้นที่เท่ากัน นาหว่านใช้ 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าเราไม่เผาฟางเกิดอินทรียวัตถุ มีการอุ้มความชื้นในดิน ไม่ต้องกลัวแล้ง” อาจารย์บอกวิธีการหว่านและปักดำ

    นาอินทรีย์แท้ๆ
    ใช้จุลินทรีย์จากหน่อกล้วย

    อาจารย์ชัชวาลย์ทำนาอินทรีย์แท้ๆ ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ได้ใช้สารเคมี ขณะเดียวกันอุปกรณ์การเกษตรก็มีพร้อม ไม่ได้ใช้ร่วมกับนาไม่อินทรีย์ อุปกรณ์มีตั้งแต่รถเตรียมดิน เครื่องเกี่ยวข้าว รวมทั้งโรงสีเล็กๆ ที่อยู่ติดกับบ้าน

    ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จ คือการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยเพื่อเตรียมและปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งฮอร์โมนไข่
    วัสดุอุปกรณ์การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ประกอบด้วย ไส้ของหน่อกล้วย ที่ได้จากหน่อหนุ่มสาว ลอกกาบออก ให้เหลือเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตัดเป็นท่อนยาว 50 เซนติเมตร ทุบให้ช้ำ อย่างอื่นมี กลูโคส 1 กระป๋อง (ราว 450 กรัม) น้ำส้มสายชู 1 ขวด (ราว 750 ซีซี) ขัณฑสกร 2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวหมาก 6 ก้อน นมเปรี้ยว 1 ขวดเล็ก นำสิ่งที่แนะนำมาใส่รวมกันในถัง 200 ลิตร จากนั้นเติมน้ำให้เต็ม นำไปวางไว้กลางแดด ใช้หินที่เป็นก้อนๆ ซึ่งเขาใช้ถมเป็นเขื่อนกันดินพัง หุ้มด้วยตาข่าย วางลงไปยังถัง 5-7 วัน ดูที่หินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าจุลินทรีย์เริ่มทำงาน สามารถนำออกใช้งานได้

    อัตราที่แนะนำ 5 ลิตร ต่อไร่ หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย เริ่มใช้เมื่อมีการเตรียมดิน โดยเทลงแปลงนา หรือจุดปล่อยน้ำเข้า จะช่วยย่อยสลายฟางข้าว ไม่ต้องเผา จากนั้นเติมลงไปในนา 10 วันครั้ง

    หมายเหตุ อาจารย์ไม่แนะนำให้ใช้กากน้ำตาล

    ส่วนฮอร์โมนไข่ วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย ไข่อินทรีย์ที่มีเชื้อ หมายถึงเกิดจากการผสมพันธุ์ของตัวผู้และตัวเมีย จำนวน 4 ฟอง น้ำจุลินทรีย์ 5 ลิตร น้ำผึ้งแท้ 100 ซีซี กลูโคส 450 กรัม หากเป็นฤดูหนาวเติมน้ำมะพร้าว สังกะสีและแมงกานีสลงไปด้วย (มีจำหน่ายตามร้านวัสดุอุปกรณ์การเกษตร) ผสมแล้วใช้ได้เลย หากเหลือเก็บไว้ใช้ได้นาน อัตราที่แนะนำ ใช้ 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ต้นข้าวทุก 10 วัน

    แมลงศัตรู มีบ้าง

    การทำนาอินทรีย์ มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงบ้าง แต่เพราะมีระยะของต้นข้าวที่พอเหมาะ ทำให้ต้นข้าวใบตั้งแข็งแรง แมลงบางตัว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จึงเพียงมาอาศัยอยู่เท่านั้น การทำลายแทบไม่พบเห็น

    ข้อคิดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนั้น อาจารย์แนะนำว่า แมลงชอบมาทำลายต้นข้าวช่วงเดือนมืด ดังนั้น จะใช้กับดักกาวเหนียวดักจับแมลง

    “แมลงบางชนิดมีประโยชน์ เกษตรกรไปกำจัดหมด เมื่อมีแมลงศัตรูพืชมา ต้องมีตัวห้ำตัวเบียน เดือนมืดโจรมา ผมใช้ฟิวเจอร์บอร์ดทาด้วยกาวดักแมลง เดือนมืดแมลงมา ข้างขึ้นไม่มา คนเกิดข้างขึ้นฉลาดกว่าคนเกิดข้างแรม พืชเกิดข้างขึ้น เติบโตดีกว่าข้างแรม โบราณถือเป็นตำนาน ทำนาข้าวต้องทำข้างขึ้นครับ ปลูกพืช ปลูกบ้าน ทำงานมงคลข้างขึ้น ผมทำอะไรเน้นข้างขึ้น...ควรให้เกษตรกรรู้เรื่องการใช้ปัจจัยการผลิต ผมไม่ให้เข้าเลยยูเรีย ตัวอย่าง คนเหนือกินอาหารอย่าง คนภาคกลางกินอาหารอย่าง เพราะฉะนั้น เอ็นพีเค ไม่ใช่อาหารสำเร็จ ไม่รู้ว่าพืชขาดอะไร เกษตรกรรู้ เอ็นพีเค ว่าต้องใส่ ขาดไม่ได้ ถามว่าทำไมขาดไม่ได้เพราะว่าในตลาดมีขาย แนะนำกันไว้อย่างนี้ ในแปลงนาอินทรีย์ของเราไม่ใช้เคมีเลย เราใช้จุลินทรีย์ น้ำร้อนเพราะดูดซับแสงแต่ดินต้องเย็น ไม่ว่าฤดูกาลไหน ไม่เห็นรากพืชเราเป็นสีน้ำตาล เราเห็นรากสีขาวแตกฝอยเป็นเส้น ไม่มีการเจ็บป่วยทางราก รากกระจายรอบต้นเยอะมาก อายุข้าว 1 เดือน ถอนไม่ขึ้น ผมบอกเกษตรกรให้ทำนาดำ เกษตรกรจะลดต้นทุนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ครับ กำไร 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้แล้วครับ นาที่ใส่ปุ๋ยเคมี 30-40 ปี ดินเป็นกรด ถ้านำดินไปสังเคราะห์นั่นแหละเป็นโรงงานปุ๋ย” เป็นแง่คิดในการทำนาหลายๆ เรื่อง

    เริ่มแรกไม่มีใครซื้อ
    ไรซ์เบอร์รี่ และสินเหล็ก
    ปัจจุบันไม่พอขาย

    อาจารย์ชัชวาลย์เริ่มทำตลาดข้าวไรซ์เบอร์รี่ใกล้ๆ บ้านคือ วัดหลวงพ่อจรัญ

    แรกๆ ไม่มีคนซื้อ แต่ทุกวันนี้ ผลผลิตไม่พอจำหน่าย ลูกค้าต่างประเทศก็สนใจ

    “ผมมองดูคนเจ็บป่วย เราทำมาไม่รู้ขายให้ใคร...เอาไปหุง คนจะบอกว่าข้าวกล้องหอมนิลรู้จัก เราบอกว่าไรซ์เบอร์รี่ เขาบอกไม่มีหรอกอย่าโกหกเลย...หน้าอย่างนี้หรือชาวนา ให้ดูมือก็แล้ว เราต้องยกเท้าให้ดู ไม่มีคนซื้อ ครั้งแรกขายกิโลกรัมละ 60 บาท ไม่มีคนซื้อ ขายไม่ออก ขายวันหนึ่งได้ 200-300 บาท มีผู้หญิงคนหนึ่งมาซื้อ เขาบอกถุงละ 5 กิโลกรัม หนักไป ให้แบ่งถุงละ 1 กิโลกรัม มีถุงหิ้ว ก็แบ่งให้ ก็เอาไป 6 กิโลกรัม รุ่งขึ้นถอยรถเก๋งมาจอดรถซื้อไป ทุกวันนี้ยังเป็นลูกค้าผมอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ก็ไปส่ง...อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าของ จ.เจริญชัยแทรกเตอร์ เมียตาเจ่าป่วยหนัก เอาข้าวไปกินอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ตาเจ่าไม่เป็นไรแต่ตายก่อนเมีย ทั้งๆ ที่เมียป่วยเป็นโรค เจ้านี้สั่ง 15 กิโลกรัม ต่อเดือน...ครั้งแรกขาย 60 บาท ตอนนี้ 110 บาท ครับผม ทำ 3 ครั้ง ต่อปี ได้ผลผลิตประมาณ 1,500 ตัน ต่อปี คนจะซื้อมีส่งไป เป็นอัมพฤกษ์เราส่งไปรษณีย์ไปให้เกาะพะงัน สมุยบ้าง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ผมกินเองมาตลอด ผมตอนนี้อายุ 70 ปี จะมาง่วงนอนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไม่มี กลางวันผมทำงาน บางทีไปเป็นวิทยากรอยู่บนเวที 8 ชั่วโมง ขับรถไปต่ออีกเวทีหนึ่ง เดินทางกลางคืน ไม่มีพฤติกรรมเหนื่อยล้าเหมือนคนอื่นเขา ออกงานกลับมาถึงบ้านสว่างทำงานต่อไม่ได้หยุด งานของเราหนักไหม ไม่หนักเพราะเราไม่เครียด”

    อาจารย์เล่าและบอกต่ออีกว่า

    “เมื่อก่อนฝนตั้งเค้าผมเป็นภูมิแพ้ ปัจจุบันไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง ผมไม่เป็นอะไรเลย ไปนาไม่ใส่หมวก ขับรถตีนา ขับรถเกี่ยวเอง บางทีทำจนสว่างไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ไม่ได้ไปเที่ยว ใช้แรงงานน้อยมาก มีคนมาฝึกงานช่วย ผมกับภรรยาเป็นหลัก...การทำพืชปลอดภัย บั้นปลายที่ได้คือผู้บริโภค ต้องเข้าใจ รถเกี่ยวต้องมีเอง โรงสีต้องมีเอง อย่าให้เกิดการปนเปื้อน ต้องผลิตอาหารพืชใช้เอง อย่าไปเอาอาหารพืชที่ขายตามท้องตลาด ที่เขาบรรจุขวดมาใช้ พนักงานขายไม่กล้าเอานิ้วจุ่มใส่ปาก แสดงว่าไม่ปลอดภัย...ผมว่าให้เกษตรกรพึ่งตนเองให้มากที่สุด เรื่องการตลาด ถามว่าสำคัญไหม ไม่สำคัญครับ คนในประเทศไทยป่วยกันเท่าไหร่ ถ้าเราทำอาหารให้คุ้มครองได้ ต้องซื่อตรง ทำข้าวมีคุณภาพ ไม่ต้องกลัวเรื่องการตลาดจะไม่มีครับ มีคนพิการเอาข้าวผมไปขายเดือนละครึ่งตัน เขาไม่มีขาเดิน เขายังขายได้เลย เขาเรียนปริญญาโท อนาคตเขาจะเป็นแหล่งรวบรวมอาหาร จำหน่ายให้คนเป็นอัมพฤกษ์ คนโทร. มาสั่ง 1 กิโลกรัม ก็ส่ง ค่าส่งและอีเอ็มเอส 75 บาท ผลิตแบบสุญญากาศส่ง”

    น้ำมันรำข้าว
    เพิ่มรายได้ดี

    น้ำมันรำข้าว เป็นการนำเอาสิ่งที่เหลือมาแปรรูป สร้างรายได้ดี
    น้ำมันรำข้าว ได้จากรำอ่อนกับจมูกข้าว
    บางคนทำไม่ได้ เหม็นหืน เพราะข้าวและรำเก็บไว้นานเกินไป
    เวลาจะทำ จะต้องเอาออกมาทำทันทีทันใด
    อาจารย์อธิบายว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1,000 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก) สีข้าวสารได้ 650-780 กิโลกรัม ข้าวสาร มีปลายข้าวใหญ่ 18 กิโลกรัม จมูกและรำอ่อน 120 กิโลกรัม ถ้าเอาเข้าเครื่องบีบเลย หน้าร้อนจะได้ 5 ลิตร หน้าฝนจะได้ประมาณ 6 ลิตร หน้าหนาวได้ 6-8 ลิตร ใน 1 ลิตร บรรจุแค็ปซูลด้วยมือ ได้ 1,900 แค็ปซูล ถ้าใช้เครื่องจักรได้ 2,000 แค็ปซูล ขายส่งแค็ปซูลละ 5 บาท ถ้าได้ 1,000 แค็ปซูล ได้ลิตรละ 10,000 บาท ขายสดเลยได้ลิตรละ 8,000 บาท

    น้ำมันรำข้าวช่วยเรื่องคนเป็นกรดไหลย้อน ภูมิแพ้ ผู้หญิงที่ร้อนในหัวอกวืบๆ หายเร็ว มุตกิตฤดูขาว คนเป็นมะเร็งนำไปรักษาบรรเทา คนเป็นเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ก็ใช้รักษา

    น้ำมันรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสีม่วง

    อาจารย์ยกตัวอย่าง รายได้จาก ข้าวไรซ์เบอร์รี่

    ดังนี้

    เกษตรกรทำไรซ์เบอร์รี่ ทำได้ข้าว 1 ตัน ต่อไร่ ได้ข้าวสาร 600 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ได้เงิน 60,000 บาท ทำน้ำมันอีก 5 ลิตร ทำเป็นแค็ปซูล ขาย 5 บาท เขาได้อีก 50,000 บาท ได้แสนกว่าบาท

    “ตอนนี้ผมทำ 300 ไร่เศษ ส่วนตัวอยากทำสัก 1,000 ไร่ มีเครื่องจักรไม่เหนื่อย จะวางแผนการทำงานได้ ง่ายสำหรับคนรู้ ถ้าไม่รู้ 10-100 ไร่ ก็เหนื่อย ถ้าข้าวสุขภาพดี ทำนาไม่เหนื่อย ข้าวถ้าสุขภาพดีไปอยู่ เพชรบูรณ์ก็ไม่เป็นไร ถ้าผมทำ 1,000 ไร่ ทำมากผลผลิตต่ำผมจะได้ 1 ตัน ต่อไร่ ผมมีอุปกรณ์พร้อม ตั้งแต่ตีดิน ดำนา เกี่ยว และโรงสี...ชาวนาทั่วไปไม่ค่อยพร้อม ทุกวันนี้ 300 ไร่ ข้าวไม่พอ ไต้หวันมามีเท่าไรเอาหมด ผมบอกไม่พอ คนไทยสุขภาพร่างกายยังไม่ดี ยังไม่ส่งออกดีกว่า ผมยังไม่มีข้าว การบินไทยก็มา ที่บ้านขายส่ง 100 บาท ต่อกิโลกรัม ผมทำจากเงิน 7,400 บาท ทอง 2 สลึง ที่คอเมียผมไปขาย...เรามาทำเห็นชาวนาต้นทุนสูง ไม่มีตลาด ผลผลิตต่ำ เผาฟางทิ้ง...ใครสนใจมาดูงาน มาฝึกงานที่นี่...ฟรีครับ โทร. (081) 281-9355” อาจารย์ชัชวาลย์ย้ำ

    ถือเป็นงานผลิตข้าวอินทรีย์ที่น่าสนใจ เจ้าของผู้ผลิตเองดูสนุกกับงาน อายุ 70 ปีแล้ว ก็ยังแข็งแรง อาจารย์ฝากบอกว่า ต่อไปจะมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ คือ ข้าวพันธุ์สามัคคี ต้องคอยติดตาม

    เห็นตัวอย่างคนทำนา กินข้าวคุณภาพดี มีสุขภาพดี น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน มีคนอยู่ไม่น้อยอยากทำนา แต่ไม่มีโอกาส ถ้าอย่างนั้น สนับสนุนผลิตผลของคนทำนาก็แล้วกัน

    ผู้สนใจถามไถ่กันได้ ใครมาจากนครสวรรค์ ชัยนาท เชิญแวะอุดหนุนกันตามสะดวก ก่อนไป ถามทางก่อน อยู่ห่างจากถนนสายเอเชียไม่มากนัก
    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี 1370252596


    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แอนด์ ข้าวสินเหล็ก อินทรีย์ 300 ไร่ กลางทุ่งสิงห์บุรี 2348949

      เวลาขณะนี้ Fri Mar 29, 2024 4:07 am